งานวิจัยสถาบันที่เกี่ยวข้องด้านการเรียนการสอนและพัฒนากระบวนการสอนระดับอุดมศึกษาในรูปแบบการเรียนการสอนทางไกลที่น่าสนใจในประเทศ

สภาวการณ์ของสังคมและประเทศที่เผชิญกับความท้าทายทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย และเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิทัล การจัดการศึกษาทางไกลของ มสธ. มีการศึกษาวิจัยสถาบันที่สอดรับการความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นการทำความเข้าใจและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและเหมาะกับความต้องการของประชากรแต่ละกลุ่ม สถานวิจัยสถาบันและสารสนเทศได้รวบรวมงานวิจัยสถาบันที่ชวนคิดชวนอ่านเพื่อการพัฒนาการวิจัยในหัวข้อการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทางไกลในอนาคตข้างหน้ากันต่อไป

 

การพัฒนาการเรียนการสอนทางไกลของ มสธ.

 ภาพรวมของเนื้อหา

 • แนะนำ 7 งานวิจัยสถาบันที่สะท้อนถึงการพัฒนาการเรียนการสอนทางไกล ที่น่าสนใจ

 • จับประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันของสังคมและประเทศ ทั้งด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม การเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสมรรถนะทรัพยากรมนุษย์

 
         มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ส่งเสริมการผลิตผลงานวิจัยสถาบันเพื่อพัฒนาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในทุกมิติ โดยเฉพาะการเรียนการสอนและหลักสูตร อันเป็นภารกิจสำคัญ ซึ่งในประเด็นการวิจัยด้านการเรียนการสอนและการพัฒนากระบวนการสอนระดับอุดมศึกษาในรูปแบบการเรียนการสอนทางไกล มีโครงการวิจัยสถาบันที่น่าสนใจหลากหลายหัวข้อ สถานวิจัยสถาบันและสารสนเทศได้สรุปประเด็นของงานวิจัยสถาบัน มีสาระสำคัญ ดังนี้

การพัฒนาการเรียนการสอนด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม

 

          การเปลี่ยนผ่านของภูมิทัศน์สื่อพลิกโฉมจากสื่อเก่าเข้าสู่สื่อใหม่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนให้บุคลากรผลิตสร้างงานวิจัยสถาบันเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยอันเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนที่เป็นผู้รับบริการ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนผ่านสื่อผสมที่เท่าทันยุคสมัย และสามารถจัดการการศึกษาตลอดชีวิตผ่านระบบทางไกลด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มได้
          ในประเด็นเรื่องของ การพัฒนาการเรียนการสอนด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม มีโครงการวิจัยสถาบัน 2 เรื่อง ที่ดำเนินการศึกษาการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่ง และอีกโครงการหนึ่งที่ใช้โปรแกรมประยุกต์ระบบแชทบอท เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนทางไกล มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิ่ง
          รายงานวิจัยของ ดวงพร ทรัพยลักษณ์ และคณะ (2559) เรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิ่งสำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน ชุดวิชาสารัตถะวิทยวิธีและธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผลการวิจัย ระบุว่า รูปแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิ่ง ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1. ขั้นเตรียมความพร้อม มีองค์ประกอบย่อย 3 ด้าน ได้แก่
  • ด้านเทคโนโลยี
  • ด้านผู้สอน
  • ด้านผู้เรียน
2. ขั้นดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน มีองค์ประกอบย่อย 4 ด้าน ได้แก่
  • ปฐมนิเทศ
  • การจัดกลุ่มผู้เรียนตามกลุ่มภูมิลำเนา
  • การทำกิจกรรมรายบุคคลเพื่อเก็บคะแนนก่อนเรียน
  • การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักการ Gilly Salmon's e-activities model
- การเตรียมความพร้อมและแรงจูงใจ
- การสร้างสังคมออนไลน์

- การแลกเปลี่ยนข้อมูล

- การสร้างความรู้และการพัฒนา

3. ขั้นประเมินผล ใช้แบบประเมินผลงานของผู้เรียนเพื่อเก็บคะแนนหลังเรียน

          ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้เรียน พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิ่งสำหรับการเรียนรู้ร่วมกันนั้น มีความเหมาะสมในด้านประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนมีประโยชน์  ด้านเนื้อหาครอบคลุมวัตถุประสงค์ และด้านการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้
การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนด้วยระบบแชทบอท
          รายงานวิจัยของ สุชาติ แสนพิช และพัฒนา ศิริกุลพิพัฒน์ (2560) เรื่อง การพัฒนาระบบแชทบอทด้วย Line Messaging API ในการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ชุดวิชาเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผลการวิจัย พบว่า การวิเคราะห์และสร้างบทสนทนาของแชทบอทในการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ของชุดวิชานี้ มีเจตนาหรือความต้องการ (Intent) จำนวน 10 กลุ่มคำ ได้แก่
  • การกล่าวทักทาย
  • ความสามารถของแชทบอท
  • ข้อมูลของชุดวิชา
  • การลงทะเบียน
  • การติวเนื้อหาชุดวิชา
  • กำหนดการสอบ
  • การตรวจสอบผลสอบ
  • การลงทะเบียนสอบซ่อม
  • การให้กำลังใจในการเรียน
  • การตอบสนองของแชทบอทกรณีไม่มีคำถามในระบบ
          การประเมินความถูกต้องในการตอบคำถามของแชทบอทสามารถตอบได้ถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 100 แต่ผลการประเมินประสิทธิภาพของแชทบอทกลับมีคะแนนของนักศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 60 ที่ตั้งไว้ 
          คณะผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน คือ ชุดวิชาที่เหมาะสมกับการนำแชทบอทมาใช้ในการเรียนการสอน คือ ชุดวิชาทั่วไป หรือชุดวิชาที่มีเนื้อหาและวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ประเภทความจำและความเข้าใจ ซึ่งแชทบอทมีความสามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1. การวิเคราะห์เนื้อหาและวัตถุประสงค์ของชุดวิชา (Content Analysis)
2. การวิเคราะห์ผู้เรียนและปัญหาในการเรียนรู้ชุดวิชา (Student Analysis)
3. การออกแบบบุคลิกของแชทบอท (Chatbot Persona)
4. การออกแบบบทสนทนา (Dialog Design)
5. การเลือกช่องทางการติดต่อสื่อสาร (Communication Channel)
6. การประเมินผล (Evaluation)
          นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากจะใช้แชทบอทแบบมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิเคราะห์หรือการประยุกต์ใช้เนื้อหา จะต้องพัฒนาให้แชทบอทมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ส่วนรูปแบบการตอบคำถามของแชทบอทเพื่อการติวเนื้อหาควรอธิบายเนื้อหาที่ยากให้เข้าใจได้ง่าย มีความเป็นกันเอง มีความสนุกสนาน มีการยกตัวอย่างประกอบ และมีการใช้คำถามเพื่อสอบทานความเข้าใจของผู้เรียน

การพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม

          รายงานวิจัยของ กุลธิดา บรรจงศิริ และคณะ (2566) เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตวิชาเอกการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม  มีข้อเสนอรูปแบบหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะสิ่งแวดล้อมโลก ดังนี้
1. ด้านหลักสูตร มี 3 ประเด็น ได้แก่
  • เนื้อหาที่ทันต่อสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและปรับใช้องค์ความรู้ในวงกว้างระดับนานาชาติ เช่น SDGs ยุทธศาสตร์ชาติ Carbon footprint IoTs BCGs เป็นต้น
  • การคำนึงถึงผู้เรียนที่มีความหลากหลายสาขาอาชีพ ที่จะนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้
  • การพัฒนาระบบ e-book อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน
2. ด้านการจัดการเรียนการสอน ใช้ระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต

การพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นต่อการพัฒนาการเรียนการสอนทางไกล

 
          การพัฒนาสมรถนะเป็นการเตรียมความพร้อมทางทักษะความรู้ความสามารถเพื่อรองรับกับการใช้ชีวิตในการทำงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างฉับพลัน การจัดการศึกษาตลอดชีวิตผ่านระบบทางไกลของ มสธ. เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างและขยายโอกาสให้มีการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ทุกที่ ทุกเวลา ทุกเพศ ทุกช่วง และทุกอาชีพ
          ในส่วนนี้มีงานวิจัยสถาบันที่ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นต่อการพัฒนาการเรียนการสอนทางไกล จำนวน 3 โครงการวิจัย ดังนี้
สมรรถนะการวิจัยของนักศึกษาพยาบาล
          รายงานวิจัยของ กาญจนา ศรีสวัสดิ์ และคณะ (2567) เรื่อง แนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะการวิจัยของนักศึกษาพยาบาลมหาบัณฑิต วางแนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะการทำวิจัยของนักศึกษา ประกอบด้วย
  • หลักการและเหตุผล
  • แนวคิดพื้นฐาน
  • จุดมุ่งหมาย
  • โครงสร้างของแนวทาง
  • กิจกรรมการเรียนรู้
  • สื่อการเรียนรู้
  • การวัดและประเมินผล
          โครงสร้างของแนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะการทำวิจัยของนักศึกษาแบ่งออกเป็น 4 หน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
หน่วยการเรียนรู้ 1 การกำหนดปัญหาการวิจัยสำหรับการทำวิทยานิพนธ์
ประเมินผลโดยการตอบแบบวัดสมรรถนะการทำวิจัยด้านความรู้
หน่วยการเรียนรู้ 2 การทบทวนวรรณกรรม แนวคิดทฤฎีที่นำมาใช้ทำวิทยานิพนธ์
ประเมินผลโดยการตอบแบบวัดสมรรถนะการทำวิจัยด้านความรู้
หน่วยการเรียนรู้ 3 การออกแบบการวิจัย
ประเมินผลโดยการตอบแบบวัดสมรรถนะด้านความรู้และทัศนคติ
หน่วยการเรียนรู้ 4 ความรู้และทักษะการทำวิทยานิพนธ์
ประเมินผลโดยการตอบแบบวัดสมรรถนะด้านความรู้และทักษะ
          ผลการประเมินแนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะการวิจัยของนักศึกษา ระบุว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก
สมรรถนะอาชีพของผู้สูงอายุ
          ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนทางไกลในรายงานวิจัยของ เขมณัฏฐ์ มิ่งศิริธรรม และกรรณ จรรยาวุฒิวรรณ์ (2565) เรื่อง การพัฒนาสมรรถนะอาชีพของผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณด้วยการเรียนแบบผสมผสาน สรุปข้อค้นพบสำคัญ 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 คุณลักษณะและความต้องการของผู้เรียน เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความต้องการ และพฤติกรรมการเรียนรู้ ของผู้สูงอายุ โดยงานวิจัยนี้พบว่า การเตรียมความพร้อมก่อนวัยเกษียณอายุ เป็นช่วงเวลาโอกาสของ มสธ. ในการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงวัย โดยกลุ่มเป้าหมายมีคุณลักษณะและความต้องการ ดังนี้
  • เป็นวัยทำงานที่มีงานมั่นคง และมีศักยภาพการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง
  • สนใจในการหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติม และการวางแผนการลงทุนในอนาคต
  • มีความทักษะการใช้งานเทคโนโลยีจากการทำงาน
ประเด็นที่ 2 การปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน ควรมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการเข้าใช้งานการฝึกอบรมหลักสูตรแบบออนไลน์ ผู้สูงอายุยังไม่คุ้นเคยกับโปรแกรมออนไลน์ จึงต้องมีสมาชิกในครอบครัวคอยช่วยเหลือการเข้าใช้งานระบบในบางครั้ง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุเลือกที่จะใช้การสื่อสารทางไมคโครโฟนมากกว่าการพิมพ์เพราะสะดวกและไวกว่า สะท้อนว่า การสร้างหลักสูตรผู้สูงอายุนั้นควรจะมีคู่มือการเข้าใช้งานระบบ หรือมีการซักซ้อมการเข้าใช้งานระบบก่อน เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความมั่นใจมากขึ้น
ประเด็นที่ 3 รูปแบบการเรียนรู้ ใช้การเรียนผสมผสานโดยใช้การอบรมแบบเผชิญหน้าออนไลน์ ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ดี และควรมีการบันทึกคลิปวิดิโอการเรียนการสอนเพื่อสามารถมาเรียนรู้และทบทวนบทเรียนย้อนหลังได้
ประเด็นที่ 4 เนื้อหาที่ใช้ในการเรียนรู้ ควรป็นความรู้ที่ใช้ในการพัฒนาตนเอง กลุ่มเป้าหมายสนใจเนื้อหาด้านเทคโนโลยีที่นำไปประยุกต์เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง ทั้งนี้ ก่อนจะสร้างหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุควรทำการศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แล้วจึงค่อยสร้างเนื้อหาหลักสูตรให้ตรงตามความสนใจทีแท้จริงนนั้น
          ผลการวิจัยฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดแนวทางการสร้างและพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้สูงอายุด้วยการเรียนรู้แบบผสมผสานผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย 
สมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากร
          รายงานวิจัยของ เขมณัฏฐ์ มิ่งศิริธรรม และคณะ (2566) เรื่อง สมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากรสำนักเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อรองรับการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์และการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สมบูรณ์แบบของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผลการวิจัย การประเมินความต้องการจำเป็นสมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากร แบ่งตามหน่วยงานย่อยภายใน พบว่า ศูนย์พัฒนาระบบการเรียนรู้เพื่อการศึกษาทางไกล มีความต้องการในการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ สมรรถนะหลักและสมรรถนะตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ ส่วนสมรรถนะดิจิทัล พบว่า สำนักงานเลขานุการ มีความต้องการในการพัฒนาสมรรถนะมากที่สุด ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาสมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากรเพื่อรองรับการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์และการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สำหรับหน่วยงานที่ต้องการพัฒนาสมรรถนะมากที่สุด 2 หน่วยงานนี้ มีแนวทางการพัฒนา ดังนี้
  • ศูนย์พัฒนาระบบการเรียนรู้เพื่อการศึกษาทางไกล
สมรรถนะการปฏิบัติงาน
ความต้องการจำเป็น
และการจัดความสำคัญ
ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ
  1. สมรรถนะหลัก
    ด้านความสามารถในการเสนอหรือทดลองวิธีการทำงานแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. สมรรถนะการปฏิบัติงาน
    ด้านการวิเคราะห์ และจัดทำรายงานข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเผยแพร่สื่อดิจิทัลและการจัดการเรียนการสอนออนไลน์
  1. การทำงานแบบ Multitasking เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลน
  2. การสนับสนุนการจัดหาระบบที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำรายงานแบบอัตโนมัติ
  • ควรมีแผนพัฒนานวัตกรรมของศูนย์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร
  • ควรมีระบบการวิเคราะห์สมรรถนะของบุคลากรเพื่อเป็นการตรวจสอบทักษะของบุคลากร ที่นำไปสู่การวางแผนอัตรากำลังและการเพิ่มทักษะที่จำเป็น
  • ควรมีคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้บุคลากรใหม่สามารถเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกัน
 
  • สำนักงานเลขานุการ
สมรรถนะการปฏิบัติงาน
ความต้องการจำเป็น
และการจัดความสำคัญ
ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ
  • สมรรถนะดิจิทัล 
    ด้านการใช้ซอฟแวร์เพื่อการตัดต่อผลงาน สามรถใช้เครื่องมือดิจิทัลช่วยวางแผนแก้ปัญหาในการทำงาน และระบุความต้องการข้อมูลที่ใช้ในการแก้ปัญหาในการทำงาน
  • การจัดหาเครื่องมือดิจิทัลมาช่วยสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
  • ควรมีการจัดหาอุปกรณ์ และเครื่องดิจิทัล เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงานให้เป็นระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น
  • ควรมีคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้บุคลากรใหม่สามารถเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกัน
  • ควรได้รับการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ

          

          จะเห็นได้ว่า การพัฒนาสมรรถนะที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนทางไกล เป็นการวางแนวทางในการกำหนดองค์ความรู้และทักษะที่คาดหวังเพื่อทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสายอาชีพ สามารถการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและความต้องการของเศรษฐกิจสังคม
          ความสามารถทางดิจิทัล เป็นสมรรถนะที่สำคัญในการปรับตัวเข้ากับสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งผู้เรียนและผู้ให้บริการการศึกษา ต่างก็ต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางดิจิทัล เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการปฏิบัติงานและสร้างรายได้ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของ มสธ. ในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเรียนการสอนทางไกล ให้สอดคล้องกับการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ได้ต่อไป

ปัจจัยความสำเร็จในการจัดการศึกษาทางไกลของ มสธ.

          งานชิ้นสุดท้ายนี้ ชวนพิจารณาปัจจัยความสำเร็จของการจัดการศึกษาทางไกลในระดับหลักสูตร ในบทความวิจัยของ วราภรณ์ สุขแสนชนานันท์ และคณะ (2566) เรื่อง การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันของปัจจัยความสำเร็จในการจัดการศึกษาทางไกล หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการ) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยความสำเร็จในการจัดการศึกษาทางไกลมีความสำคํญเท่ากันทั้ง 9 องค์ประกอบ ได้แก่
  • ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
  • ข้อกำหนดของหลักสูตร
  • โครงสร้างหลักสูตรและเนื้อหาของหลักสูตร
  • กลยุทธ์การเรียนการสอน
  • การประเมินผู้เรียน
  • คุณภาพบุคลากรสายสนับสนุน
  • คุณภาพผู้เรียน
  • การสนับสนุนและการให้คำปรึกษาผู้เรียน 
  • สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน
          ข้อเสนอแนะจากบทความวิจัยนี้ ระบุว่า การเป็นมหาวิทยาลัยเปิดอย่าง มสธ. นั้นมีรูปแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาศึกษาด้วยตนเองเป็นหลัก ดังนั้น คำแนะนำจากบุคลากรสายสนับสนุน และสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยได้

บทส่งท้าย

         การพัฒนาการเรียนการสอนทางไกล ใช้องค์ความรู้แบบสหวิทยาการในการพัฒนากระบวนการการเรียนการสอน ความท้าทายของสภาวะของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเรียนการสอนทางไกล ต้องปรับตัวและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาทางไกลต่อไปได้ สิ่งที่ได้จาก 7 งานวิจัย สรุปย่อได้ดังนี้

  • การใช้ประโยชน์จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์และโปรแกรมประยุกต์ในการพัฒนาการเรียนการสอนทางไกล
  • การพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน
  • การพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นต่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

ดูรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ คลิก ที่ชื่อเรื่อง

เอกสารอ้างอิง
  1. กาญจนา ศรีสวัสดิ์, เปรมฤทัย น้อยหมื่นไวย, และ เรณุการ์ ทองคำรอด. (2567). แนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะการวิจัยของนักศึกษาพยาบาลมหาบัณฑิต. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  2. กุลธิดา บรรจงศิริ, พรสวัสดิ์ ศรีสวัสดิ์, ปธานิน แสงอรุณ, และ วรวิช นาคแป้น. (2566). การพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตวิชาเอกการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  3. เขมณัฏฐ์ มิ่งศิริธรรม และกรรณ จรรยาวุฒิวรรณ์. (2565). การพัฒนาสมรรถนะอาชีพของผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณด้วยการเรียนแบบผสมผสาน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  4. เขมณัฏฐ์ มิ่งศิริธรรม, กรรณ จรรยาวุฒิวรรณ์, และ วชิระ พรหมวงศ์. (2566). สมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากรสำนักเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อรองรับการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์และการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สมบูรณ์แบบของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  5. ดวงพร ทรัพยลักษณ์, ชลาภรณ์ สุวรรณสัมฤทธิ์, นภาภรณ์ ปาลวัฒน์วิไชย, และ อภิญญา สนกนก. (2559). การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอีเลิร์นนิ่งสำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน ชุดวิชาสารัตถะวิทยวิธีและธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  6. วราภรณ์ สุขแสนชนานันท์, วุฒิภาค พูลบัว, และ กัลย์ ปิ่นเกษร. (2566). การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันของปัจจัยความสำเร็จในการจัดการศึกษาทางไกล หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการ) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. วารสารอิเล็กทรอนิกส์การเรียนรู้ทางไกลเชิงนวัตกรรม, 43-58.
  7. สุชาติ แสนพิช และพัฒนา ศิริกุลพิพัฒน์. (2560). การพัฒนาระบบแชทบอทด้วย Line Messaging API ในการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ชุดวิชาเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

-------------------------------------------------------

ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถานวิจัยสถาบันและสารสนเทศ
อาคารวิชาการ 2 ชั้น 6 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เบอร์โทรศัพท์ 02-504-7990-95
Email: stou.ird@gmail.com




16/09/2024 13:14:51 -สถานวิจัยสถาบันและสารสนเทศ - 24/09/2024 10:31:45